คุณกำลังมองหาอะไร?

คำ

ถามที่พบบ่อย

ตอบปัญหาไขข้อข้องใจด้านสุขภาพ

หมวดหมู่
Q

หากกำลังตั้งครรภ์อยู่ แต่ติดโควิด จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่ รพ.อย่างเดียวหรือไม่?

A

     ไม่ใช่ หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องเข้ารับการรักษาที่รพ. คือ กลุ่มอาการสีแดง ส่วนกลุ่มอาการสีเขียวและเหลืองให้เข้าระบบ Home Isolation/Hotel Isolation /Community Isolation /Hospitel ยกเว้นกรณีแม่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงหรือมีโรคประจำตัว ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล

Q

สิทธิบัตรทองอยู่ต่างจังหวัด จะเข้ารับการรักษาใน รพ. ใกล้บ้าน ได้หรือไม่?

A

     ได้ สามารถติดต่อเข้ารับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิใกล้บ้านได้ทุกแห่ง เช่น สถานีอนามัย , รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) , หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล , ศูนย์สุขภาพชุมชน , ศูนย์บริการสาธารณสุข รวมถึง คลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น ตามนโยบายยกระดับบัตรทอง

Q

คนดูแลที่บ้าน ต้องกักตัวเองไหม?

A

     คนดูแลที่บ้าน ถ้าดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบายของเชื้อโควิด เช่น การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม อย่างเคร่งครัดไม่จำเป็นต้องกักตัว แต่มีความจำเป็นที่ต้องสังเกตุอาการตนเองและควรตรวจ ATK เมื่อพบว่ามีอาการเสี่ยง

Q

ผู้ดูแลคนติดโควิดที่อยู่บ้าน ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

A

     1. เปิดแอร์ได้ไหม? :
     ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในห้องแอร์ เนื่องจากห้องแอร์มักเป็นห้องที่มีอากาศปิด ขาดการไหลเวียนอากาศที่ดี จึงมีโอกาสให้เกิดการสะสมของเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ผู้ป่วยโควิด-19 จะฟื้นตัวได้ดี หากได้อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี การเปิดหน้าต่าง/ช่องลมให้อากาศถ่ายเท โดยใช้วิธีระบายอากาศด้วยการให้ลมไหลเข้าทางหนึ่งและออกอีกทางหนึ่ง เป็นการเพิ่มการไหลเวียนของอากาศ โดยเปิดหน้าต่าง ช่องลม หรือประตูในฝั่งตรงกันข้ามของห้อง หรือใช้พัดช่วยในการไหลเวียนอากาศ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือไม่ให้ทิศทางการไหลของลมไปสู่พื้นที่ที่มีคนที่ไม่ป่วยอยู่บริเวณนั้น
     2. การจัดสภาพแวดล้อม :
     1) ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ต้องอาศัยในสถานที่พักอาศัยตลอดระยะเวลากักตัว ไม่ออกไปจากที่พัก
     2) จัดให้มีห้องนอนส่วนตัว ถ้าไม่มีห้องนอนส่วนตัวควรมีพื้นที่กว้างพอที่จะนอนห่างจากผู้อื่นกรณีมีผู้อยู่ร่วมบ้าน และต้องเปิดประตู หน้าต่างให้ระบายอากาศได้ดี
     3) หากแยกห้องนอนไม่ได้ต้องรักษาระยะอย่างน้อย 1 เมตร จากผู้ป่วย ผู้ป่วยและทุกคนที่อยู่ห้องเดียวกันควรสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ตลอดเวลา
     4) จัดให้มีถังขยะเพื่อทิ้งขยะติดเชื้อแยกเฉพาะ ขยะติดเชื้อผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ชุดตรวจ ATK เป็นต้น ในแต่ละวันให้เก็บรวบรวมทุกวัน ดังนี้
     - หากมีการเก็บขนขยะติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมใส่ถุงแดง 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรกให้มัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุง เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือน้ำยาฟอกขาว (เช่น ไฮเตอร์) แล้วซ้อนด้วยถุงขยะอีกชั้น มัดปากถุงให้แน่นและฉีดพ่นปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ นำไปทิ้งเฉพาะที่หรือประสาน อปท. หรือ รพ.สต. ในพื้นที่ เพื่อเก็บขนและนำขยะติดเชื้อไปกำจัดอย่างถูกต้อง)
     - หากไม่มีการเก็บขนขยะติดเชื้อ ให้ทิ้งไปกับรถเก็บขนขยะทั่วไป โดยให้ใส่ถุงดำ 2 ชั้น โดย ถุงแรกที่ใส่ขยะติดเชื้อให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อ เพื่อทำลายเชื้อก่อน จากนั้นทำเหมือนกรณีแรก จากนั้นให้ประสาน อปท. เพื่อนำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป
ให้ล้างถังขยะด้วยน้ำยาฟอกขาวเพื่อทำลายเชื้อ และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ทันที
     5) แยกใช้ห้องสุขา หากแยกไม่ได้ให้ใช้เป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันทีและปิดฝาชักโครกทุกครั้งก่อนกด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
     6) ไม่รับประทานอาหารร่วมกับครอบครัว ให้ตักแบ่งมารับประทาน หากให้คนในครอบครัว จัดอาหารให้ควรกำหนดจุดรับเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง
     7) การทำความสะอาดเสื้อผ้าต่างๆ แยกทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกปกติหรือซักร่วมกับน้ำร้อนของใช้ที่สัมผัสบ่อย เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ที่จับประตู หรือ สวิทช์เปิด-ปิดต่าง ๆ เช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70-90% อย่างสม่ำเสมอ
     8) ห้องน้ำ และ พื้นบ้าน ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% แต่อย่าฉีดพ่น เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
     9) แยกของใช้ส่วนตัวทุกอย่างให้ชัดเจน เช่น แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ช้อน ส้อม เป็นต้น สำหรับภาชนะอาหาร เมื่อทานเสร็จแล้ว ควรล้างทำความสะอาดด้วยตัวเอง
     10) ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อยครั้งละ 20 วินาที หรือ ใช้แอลกอฮอล์

Q

การจัดอาหาร การกิน

A

     Home Isolation หรือการกักตัวที่บ้าน คือ อีกหนึ่งวิธีในการดูแลตัวเอง สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการแสดง หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้าน สิ่งแรกที่เกี่ยวกับการจัดการอาหารคือ จัดเตรียมอุปกรณ์ทานอาหารส่วนตัว (ช้อนส้อม จานชาม แก้วน้ำ) ควรแยกกับคนอื่น เน้นทานอาหารปริมาณน้อย แต่ทานบ่อยๆ ทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก อาหารย่อยง่าย เช่น ปลา ทานอาหารอุ่นๆ ดื่มเครื่องดื่ม น้ำอุณหภูมิห้อง ไม่แช่เย็นหรือน้ำอุ่น นอกจากนี้หากไม่ได้ปรุงประกอบอาหารเองควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ต้องสัมผัสจากมือ อาหารที่ไม่ผ่านความร้อน ใช้ภาชนะซ้ำๆ เช่น หั่นบนเขียงซ้ำๆ ใช้กะละมังผสมซ้ำๆ เช่น ข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ก๋วยเตี๋ยวหลอด ปอเปี๊ยะสด ส้มตำ ยำต่างๆ ก๋วยเตี๋ยวลุยสวย สลัดผัก บุฟเฟ่ต์ ผลไม้หั่นชิ้น เป็นต้น

Q

ผู้ป่วยโควิด สามารถออกมาบริเวณหน้าบ้าน ที่เป็นที่โล่งได้หรือไม่ และต้องปฏิบัติตนอย่างไร

A

     เมื่อต้องออกมาที่หน้าบ้าน ผู้ป่วยโควิดต้องมีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ คือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือและจุดสัมผัสร่วม เว้นระยะห่างและไม่เดินไปใกล้เพื่อพูดคุยกับบุคคลอื่นๆ และสถานที่หน้าบ้านต้องเป็นสถานที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก

Q

มีลูกจ้างต่างด้าวติดโควิด จะทำอย่างไร รักษาที่พักได้หรือไม่ และหากต้องการรักษาที่ รพ.ต้องทำอย่างไร

A

     สถานประกอบการต้องมีมาตรการในการกักตัวพนักงานที่ติดโควิด คือ มีการกำหนดสถานที่กักตัวผู้ติดโควิดออกจากที่พักของพนักงานคนอื่นๆ โดยต้องกำหนดสถานที่ให้ชัดเจน มีการมาตรการควบคุมไม่ให้แออัด ควบคุมไม่ให้เกิดการรวมกลุ่ม กิจกรรมหรือการสังสรรค์ของพนักงาน เน้นการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือและการทำความสะอาดสถานที่ สถานประกอบการควรมีการเตรียม Factory Accommodation Isolation ( FAI ) หรือ Bubble & Seal
     ในกรณีที่จำเป็นต้องส่งตัวต่อไปรักษายังโรงพยาบาล สามารถติดต่อโรงพยาบาลหรือศูนย์กักตัวที่ใกล้ที่อยู่เขตรับผิดชอบ หรือโทรสายด่วน 1669 , 1330

Q

หากมีผู้พักอาศัยในคอนโดติดโควิด จะมีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไร

A

     ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ดูแลสถานที่พักอาศัย
     1. ทำความสะอาดจุดเสี่ยง ได้แก่ ลิฟท์ ราวจับ ลูกบิด เก้าอี้ เป็นต้น ด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาซักผ้าขาวผสมน้ำเปล่า หรือแอลกอฮอล์
     2. จัดอุปกรณ์หน้ากากให้พนักงานทุกคนสวมใส่ เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อและติดเชื้อระหว่างกัน
     3. จัดเตรียมเจลล้างมือที่พื้นที่ส่วนกลาง เพื่อให้ผู้พักอาศัยได้ล้างมือก่อนและหลังเข้าอาคาร
     4. เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารประชาสัมพันธ์ เรื่องการดูแลตัวเอง ให้แก่ผู้พักอาศัย
     5. อบรมให้ความรู้แก่พนักงานทุกคน เรื่องการดูแลความสะอาด ให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคและลดการแพร่เชื้อ
     6. มีระบบให้ความช่วยเหลือ สำหรับผู้ที่อยู่ในระยะกักตัว ต่างๆ เช่น การรับส่งเอกสาร การส่งของให้ถึงห้องพัก
     7. ให้ผู้ที่ป่วยปฏิบัติตัวตามแบบ HI
     8. เตรียมความพร้อมในการประสานงานกรณีฉุกเฉิน หากพบผู้ไม่สบายมีความเสี่ยง

     ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้พักอาศัย
     1. หากท่านมีความเสี่ยง กรุณากักตัวเอง 14 วันทั้งมาจากประเทศที่เสี่ยง หรือมีโอกาสใกล้ชิดผู้ที่ติดโรค
     2. เว้นระยะห่างในการเดิน อย่างน้อย 1 เมตร และไม่ยืนติดกันในลิฟท์และสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง
     3. หากมีบุคคลภายนอกมาพบ ขอให้ตรวจสอบข้อมูล ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ และกรุณาปฏิบัติตามกฎของอาคาร
     4. งดใช้พื้นที่ส่วนกลาง ทั้ง ล้อบบี้ ห้องสมุด สระว่ายน้ำ สถานออกกำลังกาย เพื่อความปลอดภัยร่วมกัน
     5. ไอจามต้องปิดปาก ด้วยกระดาษทิชชูทุกครั้ง และพยายามไม่จับพื้นที่สาธารณะ
     6. ล้างมือให้บ่อย ทั้งก่อน เข้าอาคาร และทุกๆชั่วโมง เพื่อลดการแพร่เชื้อ
     7. แจ้งข้อมูลทันที หากพบว่าไม่สบายหรือมีอาการใกล้เคียง และต้องการความช่วยเหลือ
     8. ช่วยกันรักษาความสะอาด ทิ้งขยะโดยเฉพาะทิชชู กระดาษเช็ดปากให้ลงถัง และระวังการจับสิ่งของสาธารณะ

Q

สถานที่ใด สามารถตรวจ RT-PCR เพื่อขอรับใบรับรองในการเบิกเงินประกัน

A

รพ.รัฐและเอกชน รวมทั้งคลินิกแลบของเอกชน (บางแห่งเปิดตรวจเป็นช่วงๆ อาจต้องติดต่อสอบถาม ก่อนไปตรวจ)

Q

สามารถขอใบรับรองแพทย์ หรือ ใบรับรองการกักตัว HI ได้จากที่ใด

A

ขอจากหน่วยงานที่ดูแลผู้ป่วยในช่วงที่ทำ HI